การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร: สมุนไพรสำหรับอาการภายนอก

Last updated: 5 พ.ค. 2561  |  1836 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร: สมุนไพรสำหรับอาการภายนอก

บทความโดย

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
ภาพประกอบจาก : http://www.firstaidmidnorthcoast.com.au/wp-content/uploads/2014/10/First-Aid-Courses.jpg

การดูแลสุขภาพเบื้องต้นภายในครอบครัว รวมทั้งการปฐมพยาบาลด้วยวิธีที่ถูกต้อง ต่ออาการต่างๆ จากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เป็นเรื่องที่สามารถปฎิบัติได้เองเพื่อเป็นการบรรเทาอาการก่อนที่จะไปพบแพทย์ และมีข้อมูลของสมุนไพรใกล้ตัวหลายชนิดที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์สำหรับการปฐมพยาบาล บทความนี้จึงขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้สำหรับการปฐมพยาบาล รวมทั้งภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร การใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

ภาพจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTbWTB0RQfvXxd_CG_rYWWFZPgY-twiKf68D7cWCHr0LhvyDXf_qA 

แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก 

ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) วุ้นจากใบว่านหางจระเข้ มีฤทธิ์สมานแผล ลดการอักเสบ ลดรอยแผลเป็น ใช้รักษาแผลสด แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการไหม้จากแสงแดด สำหรับการใช้วุ้นว่านหางจระเข้เพื่อปฐมพยาบาลนั้น ให้เลือกใช้ใบแก่นำมาปอกเปลือกและล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้สะอาด นำเฉพาะส่วนวุ้นมาใช้พอกแผล แต่ควรเตรียมแล้วใช้ทันทีหรือเก็บไว้ในที่เย็น เนื่องจากภายในวุ้นจะมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อโดนความร้อนหรือรังสียูวีและออกซิเจนในอากาศ จะค่อยๆ สลายตัว

มะพร้าว (Cocos nucifera) น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยกรดไขมันและวิตามินอี มีฤทธิ์เป็นสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ใช้ทาเพื่อบรรเทาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ผสมกับน้ำปูนใส 1 ส่วน คนให้เข้ากันเป็นน้ำมันข้น ทาบริเวณที่เป็นแผล หรือใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการผิวแห้งคันแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง

บัวบก (Centella asiatica) สารสกัดบัวบกมีฤทธิ์สมานแผลโดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ และลดการเกิดรอยแผลเป็นได้ สามารถเตรียมยาสมุนไพรแบบง่ายโดยใช้บัวบกทั้งต้นที่ล้างให้สะอาดมาโขลกให้ละเอียด นำมาพอกบริเวณแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือแผลสด

แผลสด 

สาบเสือ (Chromolaena odorata) ใบสาบเสือ มีการใช้แบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน นำใบสดมาล้างให้สะอาด ขยี้หรือโขลกให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณแผลสด สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีบางงานวิจัยระบุว่าสารสกัดใบสาบเสือมีฤทธิ์ต่อกลไกการห้ามเลือด โดยลดระยะเวลาการแข็งตัวของเลือด (clotting time และ bleeding time) อย่างไรก็ตามแผลสดเป็นแผลที่ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นเมื่อห้ามเลือดได้ควรทำความสะอาดแผลให้สะอาด และหากแผลมีขนาดใหญ่อาจต้องเย็บหรือผ่าตัดควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาให้เร็วที่สุด 

แผลฟกช้ำ เคล็ด ขัด ยอก 

ไพล (Zingiber montanum) เหง้าไพลประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ใช้บรรเทากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ตามข้อมูลยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้น้ำมันไพลเป็นส่วนประกอบของครีมและน้ำมันไพล มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการเคล็ดยอก หรือสามารถเตรียมน้ำมันไพลไว้ใช้เองจากการทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม ใช้ทาและถูเบาๆ บริเวณที่มีอาการ โดยมีข้อควรระวังคือ ห้ามทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน หรือผิวหนังที่มีบาดแผล และไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็กเล็ก

พริก (Capsicum annuum) ผลพริก มีสรรพคุณแก้เคล็ดขัดยอก รูปแบบการใช้ตามข้อมูลสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ เจล ครีม และขี้ผึ้ง ที่มีสารสกัดจากผลพริกแห้ง โดยควบคุมความแรงของสาร capsaicin ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ใช้ทาบริเวณที่ปวด 3-4 ครั้ง/วัน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ capsaicin ห้ามสัมผัสบริเวณตา ผิวที่บอบบาง ผิวหนังที่แตกหรือมีบาดแผล เพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้

ผื่นคัน แมลงสัตว์ กัด ต่อย 

เสลดพังพอนตัวเมีย (Clinacanthus nutans) หรือ พญายอ พญาปล้องทอง ใบพญายอมีสรรพคุณแผนโบราณ ใช้บรรเทาอาการอักเสบจากพิษแมลงกัดต่อย เช่น ตะขาบ แมงป่อง ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อแมลงกัดต่อยเป็นผื่นคัน ให้ใช้ใบสด ตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผล และมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการทางผิวหนัง จากข้อมูลการใช้สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาครีมใช้บรรเทาอาการของเริมและงูสวัด สารละลาย (สำหรับป้ายปาก) ใช้รักษาแผลในปาก แผลจากการฉายรังสีและเคมีบำบัด โลชันใช้บรรเทาอาการผื่นคัน ลมพิษ ยาขี้ผึ้งใช้บรรเทาอาการอักเสบ ปวดบวมจากแมลงกัดต่อย และทิงเจอร์พญายอใช้บรรเทาอาการของเริมและงูสวัด 

พลู (Piper betle) ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสาร เช่น ยูจีนอล (eugenol) และชาวิคอล (chavicol) มีฤทธิ์ต้านอักเสบ สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการแพ้อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบพลูสดตำผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีอาการ สำหรับรูปแบบยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้สารสกัดเอทิลแอลกอฮอล์ ของใบพลูสด ในรูปแบบยาทิงเจอร์พลู ทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น ช่วยบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบจากแมลงสัตว์กัด ต่อย แต่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์คือ เมื่อทาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังเป็นสีดำ แต่เมื่อหยุดยาแล้วอาการจะหายไป 

ตำลึง (Coccinia grandis) ใบตำลึงมีสรรพคุณแผนไทยใช้บรรเทาอาการแพ้ อักเสบ จากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือพืชพิษ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถเตรียมแบบง่ายตามการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยใช้ใบสดล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย คั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ 

ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae) ใบและเถาสดของผักบุ้งทะเล มีการใช้ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อบรรเทาพิษแมงกะพรุน รวมทั้งแผลคัน แมลงสัตว์กัดต่อย โดยการนำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาน้ำทาแผลบริเวณที่เกิดแผล หรือตำกับเหล้าใช้พอกแผล และมีข้อมูลงานวิจัยระบุว่าผักบุ้งทะเลมีฤทธิ์ต้านอักเสบ และมีผลต่อสารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการแพ้ เช่น ฮีสตามีน (histamine) ซีโรโทนิน (serotonin) และ ไคนิน (kinins) เป็นต้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาเป็นเพียงขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยสมุนไพรที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาได้รอบๆ ตัว หรือเตรียมไว้ใช้ได้เองภายในครัวเรือน อย่างไรก็ตามเราควรสังเกตอาการ และเมื่อปฐมพยาบาลแล้วให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด หรือหากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. เอกสารประกอบการประชุม เรื่อง “การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพรใกล้ตัว”; วันที่ 7 ส.ค. 2556; สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ปัจจุบัน เหมหงษา, พรรณี ลิ้มสวัสดิ์, รุจินาถ อรรถสิษฐ, อรุณลักษณ์ รัตนสาลี, บรรณาธิการ. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน; 2542.
  3. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2559 [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560]; จาก: http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/nlem2016_announcement_ratchakitcha120459_20160412.pdf
  4. Sirinthipaporn A, Jiraungkoorskul W. Wound healing property review of Siam weed, Chromolaena odorata. Pharmacogn Rev 2017;11(21):35-38.
  5. Pongprayoon U, Bohlin L, Wasuwat S. Neutralization of toxic effects of different crude jellyfish venoms by an extract of Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br. J Ethnopharmacol 1991;35(1):65-9.
  6. da Silva Barth C, Tolentino de Souza HG, Rocha LW, da Silva GF, Dos Anjos MF, Pastor VD, et al. Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br (Convolvulaceae) relieved nociception and inflammation in mice - A topical herbal medicine against effects due to cnidarian venom-skin contact. J Ethnopharmacol 2017;200:156-164.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้