Last updated: 10 ต.ค. 2560 | 1116 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความโดย
อาจารย์ ดร.ทนพญ. วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับ วิตามินดี (vitamin D) เป็นอย่างดี แต่น่าแปลกใจที่วิตามินดีเป็นวิตามินที่หลายท่านละเลย เพราะเข้าใจว่าวิตามินชนิดนี้สามารถสร้างขึ้นได้ในร่างกายหลังจากถูกแสงแดด แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนเมืองส่วนใหญ่ มักนั่งทำงานในออฟฟิศ เมื่อต้องสัมผัสกับแสงแดดมักใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย รวมทั้งใช้ครีมกันแดด เป็นผลให้คนเมืองส่วนใหญ่ขาดวิตามินดีโดยไม่รู้ตัว เราทราบว่าวิตามินดีมีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง (osteopenia) และกระดูกพรุน (osteoporosis) แต่เราทราบหรือไม่ว่าวิตามินดี ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพอื่นๆของเราอีกด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง (hypertension)1 กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (immune system)2 ต้านโรคมะเร็งต่างๆ3 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญในการเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis)4
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบจำนวนมากในผู้ป่วยสูงอายุ และเนื่องจากข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องแคล่ว ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่งผลทำให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆไม่คล่องเหมือนเดิม ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หลายท่านคงทราบว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ แต่การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมที่มากเกินไปก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยมีผลไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจ5 ดังนั้นการเสริมแคลเซียมอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะของโรคหัวใจร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้การได้รับวิตามินที่สามารถบรรเทาอาการความรุนแรงของโรค อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายงานการศึกษาที่เกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดีต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม จากการศึกษาของ Manoy และคณะ6 ที่ได้ศึกษาโดยการเสริมวิตามินดีให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณวิตามินดีปริมาณ 40,000 IU ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหกเดือน และทุกสามเดือนคณะผู้วิจัยได้ทดสอบสมรรถภาพของผู้ป่วย โดยวัดกำลังของการกำมือ (grip strength) และทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพ (physical performance) ประกอบด้วย การทดสอบ timed up and go (TUGT) การทดสอบ sit to stand (STS) และการทดสอบ six-minute walk (6-MW) ผลการศึกษาพบว่าวิตามินดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงบีบมือ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้วิตามินดีมีหน้าที่สำคัญในการช่วยลดสารอนุมูลอิสระได้แก่ protein carbonyl (สารที่ก่อให้เกิดการทำลายของโปรตีนในเซลล์) และระดับไขมันในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น7 ข้อมูลจากการศึกษาที่กล่าวไว้ข้างต้นได้สนับสนุนผลของวิตามินดีต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และช่วยลดการเกิดสภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ซึ่งช่วยชะลอการแก่ของเซลล์ต่างๆในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างชัดเจน
ผู้ป่วยหลายท่านหรือบุคคลทั่วไปอาจมีข้อสงสัยว่าหากไม่ต้องการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากแสงแดดมีผลเสียต่อผิวหนัง อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เราจะรับวิตามินดีจากทางใดได้บ้าง วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ergocalciferol ซึ่งพบในยีสต์ และ cholecalciferol พบได้ในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสามารถสังเคราะห์ได้ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมสามารถพบวิตามินดีได้ทั้งสองชนิด ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับคำแนะนำในการรับประทานวิตามินดีสำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ตารางที่ 1 ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับบุคคลทั่วไป โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ8
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน |
0-12 เดือน | 400 IU (10 mcg) |
1-13 ปี | 600 IU (15 mcg) |
14-18 ปี | 600 IU (15 mcg) |
19-50 ปี | 600 IU (15 mcg) |
51-70 ปี | 600 IU (15 mcg) |
>70 ปี | 800 IU (20 mcg) |
ตารางที่ 2 ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ8
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน |
0-6 เดือน | 1,000 IU (25 mcg) |
7-12 เดือน | 1,500 IU (25 mcg) |
1-3 ปี | 2,500 IU (25 mcg) |
4-8 ปี | 3,000 IU (25 mcg) |
9-18 ปี | 4,000 IU (25 mcg) |
>18 ปี | 4,000 IU (25 mcg) |
จากข้อมูลงานวิจัย ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการได้รับวิตามินดีที่มีผลต่อร่างกายไม่เพียงเฉพาะแค่กระดูก แต่มีผลสำคัญในระบบอื่นๆด้วย และเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี เราควรปรับวิธีการดำเนินชีวิต เช่น สัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า หรือเลือกรับประทานอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูง ดื่มนมที่มีการเติมวิตามินดี นอกจากนี้การรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (ปริมาณวิตามินดี 400-1,000 IU) เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่อย่างไรก็ตามการรักษาที่ถูกต้องที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในเลือดก่อนเสริมวิตามิน เนื่องจากการรับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก เกินความต้องการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน (20,000 IU ต่อวัน) อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
15 ต.ค. 2561
27 ก.ย. 2560
5 พ.ค. 2561